วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553

ทรัพยากรป่าไม้

"ป่าไม้" เป็นศูนย์รวมของสรรพชีวิต เป็นที่ก่อกำเนิดสายน้ำ ชีวิตพืชและสัตว์ที่หลากหลายอีกทั้ง เป็นที่พึ่งพิงและให้ประโยชน์แก่มนุษย์มาแต่โบราณกาล เพราะป่าไม้ช่วยรักษาสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคุมสภาพดินฟ้าอากาศ กำบังลมพายุ ป้องกันบรรเทาอุทกภัย ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน เป็นเสมือนเขื่อนธรรมชาติที่ป้องกันการตื้นเขินของแม่น้ำลำคลอง เป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเป็นโรงงานผลิตออกซิเจนขนาดใหญ่ เป็นคลังอาหารและยาสมุนไพร และป่าไม้ยังเป็นแหล่งศึกษาวิจัยและเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของมนุษย์ นอกจากนี้ ในผืนป่ายังมีสัตว์ป่านานาชนิดซึ่งมีประโยชน์ต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในหลายลักษณะ ได้แก่ การรักษาสมดุลของระบบนิเวศ เช่น การควบคุมปริมาณสัตว์ป่าให้อยู่ในภาวะสมดุล การช่วยแพร่พันธุ์พืช การควบคุมแมลงศัตรูพืช เป็นปุ๋ยให้กับดินในป่า เป็นแหล่งอาศัย อาหารเครื่องนุ่งห่ม และการทำยารักษาโรค เป็นต้น การเป็นแหล่งพันธุกรรมที่หลากหลาย การเป็นอาหารของมนุษย์และสัตว์อื่น และการสร้างรายได้ให้แก่มนุษย์ เช่น การทำการค้าจากชิ้นส่วนต่างๆ ของสัตว์ป่า การจำหน่ายสัตว์ป่า และการเปิดให้บริการเข้าชมสวนสัตว์ เป็นต้น ดังนั้น จึงนับว่าป่าไม้ให้คุณประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่มวลมนุษย์เป็นอย่างมากมาย หากป่าไม้เสื่อมถอยไป ย่อมเป็นบ่อเกิดความทุกข์ยากแก่ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์และสัตว์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะส่งผลไปถึงดินและแหล่งน้ำด้วย เพราะเมื่อเผาหรือถางป่าไปแล้ว พื้นดินจะโล่งขาดพืชปกคลุม เมื่อฝนตกลงมาก็จะชะล้างหน้าดินและความอุดมสมบูรณ์ของดินไป นอกจากนั้นเมื่อขาดต้นไม้คอยดูดซับน้ำไว้น้ำก็จะไหลบ่าท่วมบ้านเรือน และที่ลุ่มในฤดูน้ำหลากพอถึงฤดูแล้งก็ไม่มีน้ำซึมใต้ดินไว้หล่อเลี้ยงต้นน้ำลำธารทำให้แม่น้ำมีน้ำน้อย ส่งผลกระทบต่อมาถึงระบบเศรษฐกิจและสังคม เช่น การขาดแคลนน้ำในการการชลประทานทำให้ทำนาไม่ได้ผลขาดน้ำมาผลิตกระแสไฟฟ้า
ประเภทของป่าไม้ในประเทศไทย
ประเภทของป่าไม้จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการกระจายของฝน ระยะเวลาที่ฝนตกรวมทั้งปริมาณน้ำฝนทำให้ป่าแต่ละแห่งมีความชุ่มชื้นต่างกัน สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. ป่าประเภทที่ไม่ผลัดใบ (Evergreen)
2. ป่าประเภทที่ผลัดใบ (Deciduous)
ป่าประเภทที่ไม่ผลัดใบ (Evergreen)
ป่าประเภทนี้มองดูเขียวชอุ่มตลอดปี เนื่องจากต้นไม้แทบทั้งหมดที่ขึ้นอยู่เป็นประเภทที่ไม่ผลัดใบ ป่าชนิดสำคัญซึ่งจัดอยู่ในประเภท นี้ ได้แก่
1. ป่าดงดิบ (Tropical Evergreen Forest or Rain Forest)
ป่าดงดิบที่มีอยู่ทั่วในทุกภาคของประเทศ แต่ที่มีมากที่สุด ได้แก่ ภาคใต้และภาคตะวันออก ในบริเวณนี้มีฝนตกมากและมีความชื้นมากในท้องที่ภาคอื่น ป่าดงดิบมักกระจายอยู่บริเวณที่มีความชุ่มชื้นมาก ๆ เช่น ตามหุบเขาริมแม่น้ำลำธาร ห้วย แหล่งน้ำ และบนภูเขา ซึ่งสามารถแยกออกเป็นป่าดงดิบชนิดต่าง ๆ ดังนี้
1.1 ป่าดิบชื้น (Moist Evergreen Forest)
เป็นป่ารกทึบมองดูเขียวชอุ่มตลอดปีมีพันธุ์ไม้หลายร้อยชนิดขึ้นเบียดเสียดกันอยู่มักจะพบกระจัดกระจายตั้งแต่ความสูง 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ไม้ที่สำคัญก็คือ ไม้ตระกูลยางต่าง ๆ เช่น ยางนา ยางเสียน ส่วนไม้ชั้นรอง คือ พวกไม้กอ เช่น กอน้ำ กอเดือย
1.2 ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen Forest) เป็นป่าที่อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างราบมีความชุ่มชื้นน้อย เช่น ในแถบภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300-600 เมตร ไม้ที่สำคัญได้แก่ มะคาโมง ยางนา พยอม ตะเคียนแดง กระเบากลัก และตาเสือ 1.3 ป่าดิบเขา (Hill Evergreen Forest) ป่าชนิดนี้เกิดขึ้นในพื้นที่สูง ๆ หรือบนภูเขาตั้งแต่ 1,000-1,200 เมตร ขึ้นไปจากระดับน้ำทะเล ไม้ส่วนมากเป็นพวก Gymonosperm ได้แก่ พวกไม้ขุนและสนสามพันปี นอกจากนี้ยังมีไม้ตระกูลกอขึ้นอยู่ พวกไม้ชั้นที่สองรองลงมา ได้แก่ เป้ง สะเดาช้าง และขมิ้นต้น
2. ป่าสนเขา (Pine Forest)
ป่าสนเขามักปรากฎอยู่ตามภูเขาสูงส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ซึ่งมีความสูงประมาณ 200-1800 เมตร ขึ้นไปจากระดับน้ำทะเลในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางทีอาจปรากฎในพื้นที่สูง 200-300 เมตร จากระดับน้ำทะเลในภาคตะวันออกเฉียงใต้ ป่าสนเขามีลักษณะเป็นป่าโปร่ง ชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญของป่าชนิดนี้คือ สนสองใบ และสนสามใบ ส่วนไม้ชนิดอื่นที่ขึ้นอยู่ด้วยได้แก่พันธุ์ไม้ป่าดิบเขา เช่น กอชนิดต่าง ๆ หรือพันธุ์ไม้ป่าแดงบางชนิด คือ เต็ง รัง เหียง พลวง เป็นต้น
3. ป่าชายเลน (Mangrove Forest)
บางทีเรียกว่า "ป่าเลนน้ำเค็ม”หรือป่าเลน มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นแต่ละชนิดมีรากค้ำยันและรากหายใจ ป่าชนิดนี้ปรากฎอยู่ตามที่ดินเลนริมทะเลหรือบริเวณปากน้ำแม่น้ำใหญ่ ๆ ซึ่งมีน้ำเค็มท่วมถึงในพื้นที่ภาคใต้มีอยู่ตามชายฝั่งทะเลทั้งสองด้าน ตามชายทะเลภาคตะวันออกมีอยู่ทุกจังหวัดแต่ที่มากที่สุดคือ บริเวณปากน้ำเวฬุ อำเภอลุง จังหวัดจันทบุรี
พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ตามป่าชายเลน ส่วนมากเป็นพันธุ์ไม้ขนาดเล็กใช้ประโยชน์สำหรับการเผาถ่านและทำฟืนไม้ชนิดที่สำคัญ คือ โกงกาง ประสัก ถั่วขาว ถั่วขำ โปรง ตะบูน แสมทะเล ลำพูนและลำแพน ฯลฯ ส่วนไม้พื้นล่างมักเป็นพวก ปรงทะเลเหงือกปลายหมอ ปอทะเล และเป้ง เป็นต้น
4. ป่าพรุหรือป่าบึงน้ำจืด (Swamp Forest)
ป่าชนิดนี้มักปรากฎในบริเวณที่มีน้ำจืดท่วมมาก ๆ ดินระบายน้ำไม่ดีป่าพรุในภาคกลาง มีลักษณะโปร่งและมีต้นไม้ขึ้นอยู่ห่าง ๆ เช่น ครอเทียน สนุ่น จิก โมกบ้าน หวายน้ำ หวายโปร่ง ระกำ อ้อ และแขม ในภาคใต้ป่าพรุมีขึ้นอยู่ตามบริเวณที่มีน้ำขังตลอดปีดินป่าพรุที่มีเนื้อที่มากที่สุดอยู่ในบริเวณจังหวัดนราธิวาสดินเป็นพีท ซึ่งเป็นซากพืชผุสลายทับถมกัน เป็นเวลานานป่าพรุแบ่งออกได้ 2 ลักษณะ คือ ตามบริเวณซึ่งเป็นพรุน้ำกร่อยใกล้ชายทะเลต้นเสม็ดจะขึ้นอยู่หนาแน่นพื้นที่มีต้นกกชนิดต่าง ๆ เรียก "ป่าพรุเสม็ด หรือ ป่าเสม็ด" อีกลักษณะเป็นป่าที่มีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ มากชนิดขึ้นปะปนกัน
ชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญของป่าพรุ ได้แก่ อินทนิล น้ำหว้า จิก โสกน้ำ กระทุ่มน้ำภันเกรา โงงงันกะทั่งหัน ไม้พื้นล่างประกอบด้วย หวาย ตะค้าทอง หมากแดง และหมากชนิดอื่น ๆ 5. ป่าชายหาด (Beach Forest)
เป็นป่าโปร่งไม่ผลัดใบขึ้นอยู่ตามบริเวณหาดชายทะเล น้ำไม่ท่วมตามฝั่งดินและชายเขาริมทะเล ต้นไม้สำคัญที่ขึ้นอยู่ตามหาดชายทะเล ต้องเป็นพืชทนเค็ม และมักมีลักษณะไม้เป็นพุ่มลักษณะต้นคดงอ ใบหนาแข็ง ได้แก่ สนทะเล หูกวาง โพธิ์ทะเล กระทิง ตีนเป็ดทะเล หยีน้ำ มักมีต้นเตยและหญ้าต่าง ๆ ขึ้นอยู่เป็นไม้พื้นล่าง ตามฝั่งดินและชายเขา มักพบไม้เกตลำบิด มะคาแต้ กระบองเพชร เสมา และไม้หนามชนิดต่าง ๆ เช่น ซิงซี่ หนามหัน กำจาย มะดันขอ เป็นต้น
ป่าประเภทที่ผลัดใบ (Declduous)
ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าประเภทนี้เป็นจำพวกผลัดใบแทบทั้งสิ้น ในฤดูฝนป่าประเภทนี้จะมองดูเขียวชอุ่มพอถึงฤดูแล้งต้นไม้ ส่วนใหญ่จะพากันผลัดใบทำให้ป่ามองดูโปร่งขึ้น และมักจะเกิดไฟป่าเผาไหม้ใบไม้และต้นไม้เล็ก ๆ ป่าชนิดสำคัญซึ่งอยู่ในประเภทนี้ ได้แก่
1. ป่าเบญจพรรณ (Mixed Declduous Forest)
ป่าผลัดใบผสม หรือป่าเบญจพรรณมีลักษณะเป็นป่าโปร่งและยังมีไม้ไผ่ชนิดต่าง ๆ ขึ้นอยู่กระจัดกระจายทั่วไปพื้นที่ดินมักเป็นดินร่วนปนทราย ป่าเบญจพรรณ ในภาคเหนือมักจะมีไม้สักขึ้นปะปนอยู่ทั่วไปครอบคลุมลงมาถึงจังหวัดกาญจนบุรี ในภาคกลางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก มีป่าเบญจพรรณน้อยมากและกระจัดกระจาย พันธุ์ไม้ชนิดสำคัญได้แก่ สัก ประดู่แดง มะค่าโมง ตะแบก เสลา อ้อยช้าง ส้าน ยม หอม ยมหิน มะเกลือ สมพง เก็ดดำ เก็ดแดง ฯลฯ นอกจากนี้มีไม้ไผ่ที่สำคัญ เช่น ไผ่ป่า ไผ่บง ไผ่ซาง ไผ่รวก ไผ่ไร เป็นต้น
2. ป่าเต็งรัง (Declduous Dipterocarp Forest)
หรือที่เรียกกันว่าป่าแดง ป่าแพะ ป่าโคก ลักษณะทั่วไปเป็นป่าโปร่ง ตามพื้นป่ามักจะมีโจด ต้นแปรง และหญ้าเพ็ก พื้นที่แห้งแล้งดินร่วนปนทราย หรือกรวด ลูกรัง พบอยู่ทั่วไปในที่ราบและที่ภูเขา ในภาคเหนือส่วนมากขึ้นอยู่บนเขาที่มีดินตื้นและแห้งแล้งมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีป่าแดงหรือป่าเต็งรังนี้มากที่สุด ตามเนินเขาหรือที่ราบดินทรายชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญในป่าแดง หรือป่าเต็งรัง ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง กราด พะยอม ติ้ว แต้ว มะค่าแต ประดู่ แดง สมอไทย ตะแบก เลือดแสลงใจ รกฟ้า ฯลฯ ส่วนไม้พื้นล่างที่พบมาก ได้แก่ มะพร้าวเต่า ปุ่มแป้ง หญ้าเพ็ก โจด ปรงและหญ้าชนิดอื่น ๆ
3. ป่าหญ้า (Savannas Forest)
ป่าหญ้าที่อยู่ทุกภาคบริเวณป่าที่ถูกแผ้วถางทำลายบริเวณพื้นดินที่ขาดความสมบูรณ์และถูกทอดทิ้ง หญ้าชนิดต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นทดแทนและพอถึงหน้าแล้งก็เกิดไฟไหม้ทำให้ต้นไม้บริเวณข้างเคียงล้มตาย พื้นที่ป่าหญ้าจึงขยายมากขึ้นทุกปี พืชที่พบมากที่สุดในป่าหญ้าก็คือ หญ้าคา หญ้าขนตาช้าง หญ้าโขมง หญ้าเพ็กและปุ่มแป้ง บริเวณที่พอจะมีความชื้นอยู่บ้าง และการระบายน้าได้ดีก็มักจะพบพงและแขมขึ้นอยู่ และอาจพบต้นไม้ทนไฟขึ้นอยู่ เช่น ตับเต่า รกฟ้าตานเหลือ ติ้วและแต้ว
สถานการณ์ทรัพยากรป่าไม้
การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่องในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมาทำให้ประเทศไทยสูญเสีย พื้นที่ป่าไปแล้วประมาณ 67 ล้านไร่ หรือเฉลี่ยประมาณ 1.6 ล้านไร่ต่อปี กล่าวคือ ปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอยู่ถึงร้อยละ 53.3 ของพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ 171 ล้านไร่ และลดลงมาโดยตลอดจนในปี พ.ศ. 2532 ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าเพียงร้อยละ 27.95 ของพื้นที่ทั้งหมด หรือประมาณ 90 ล้านไร่ (รูปที่ 1)




รัฐบาลในอดีตได้พยายามจะรักษาพื้นที่ป่าโดยประกาศยกเลิกสัมปทานการทำไม้ในป่าบกทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2532 แต่หลังจากยกเลิกสัมปทานป่าไม้ สถานการณ์ดีขึ้นในระยะแรกเท่านั้น ต่อมาการทำลายก็ยังคงเกิดขึ้นไม่แตกต่างจากสถานการณ์ก่อนยกเลิกสัมปทานป่าไม้เท่าใดนัก โดยพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกก่อนการยกเลิกสัมปทาน (ปี พ.ศ. 2525-2532) เฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 1.2 ล้านไร่ และพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกหลังการยกเลิกสัมปทาน (ปี พ.ศ. 2532-2541) เฉลี่ย 1.1 ล้านไร่ต่อปี
ตารางที่ 1 พื้นที่ป่าก่อนและหลังการยกเลิกสัมปทานป่าไม้
อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2543 มีการประเมินพื้นที่ป่าโดยแปลความจากข้อมูลดาวเทียมมาตราส่วน 1:50,000 พบว่า มีพื้นที่ประมาณ 107 ล้านไร่ หรือร้อยละ 33.40 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นผลการประเมินขั้นต้นที่ยังไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องภาคพื้นดินจากพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่จะมีพื้นที่ที่มีสภาพทางระบบนิเวศที่สมบูรณ์อยู่ไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ได้ทำการประกาศก่อนการยกเลิกสัมปทานป่าไม้ และจากการนำข้อมูลดาวเทียมปี พ.ศ. 2547 ไปทับซ้อนลงบนข้อมูลดาวเทียมปี พ.ศ. 2543 พบว่า นับจากปี พ.ศ. 2543 จนถึง พ.ศ. 2547 มีพื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกรวม 1,476 แปลง รวมพื้นที่ 3,852,821 ไร่
สาเหตุสำคัญของการลดลงของพื้นที่ป่าเกิดจากจำนวนประชากรในประเทศที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจทำให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากป่าไม้มากขึ้น ทั้งในลักษณะของการเป็นที่อยู่อาศัย การตัดไม้เพื่อการค้า การใช้และการเผาพื้นที่ป่าเพื่อการเกษตร การเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น สถานที่พักผ่อน สถานตากอากาศ สนามกอล์ฟ เป็นต้น รวมถึงการกว้านซื้อที่ดินเพื่อการเก็งกำไร นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ได้แก่ การสร้างเขื่อน การตัดถนน และการเดินสายไฟแรงสูงก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการทำลายพื้นที่ป่าเป็นบริเวณกว้าง
การเกิดไฟป่านอกจากทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าแล้วยังทำให้กล้าไม้เล็กๆ ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก สาเหตุการเกิดไฟป่าส่วนใหญ่เกิดจากการหาของป่า การล่าสัตว์ และการเผาไร่ พื้นที่ที่เกิดไฟป่ามีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอด จากปี พ.ศ. 2536 มีการสูญเสียพื้นที่ป่าจากไฟป่าสูงถึง 9.12 ล้านไร่ หรือร้อยละ 2.84 ของประเทศ จนในปี พ.ศ. 2538 มีพื้นที่ที่เกิดไฟป่าเพียงร้อยละ 1.25 ของประเทศ (4 ล้านไร่) หลังจากนั้นเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว คือ 7 ล้านไร่ หรือร้อยละ 2.23 ของประเทศ ในปี พ.ศ. 2541 ซึ่งคาดว่าเป็นผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนิโนที่เกิดขึ้น และในปี พ.ศ. 2546 เกิดไฟป่าขึ้นเพียงร้อยละ 0.03 ของประเทศ (0.1 ล้านไร่) (รูปที่ 2)

แนวโน้มของพื้นที่ที่เกิดไฟป่าลดลงนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยให้เกิดไฟป่า อีกส่วนหนึ่งอาจเกิดจากประสิทธิภาพในการดูแลและควบคุมไฟป่าของหน่วยงานรัฐ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวังไฟป่า
ในส่วนของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (การคำนวณตัวชี้วัดของโครงการติดตามประเมินผลการแปลงนโยบาย แผนและมาตรการไปสู่การปฏิบัติ) หมายรวมถึง พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่ป่าชายเลน ในปัจจุบันมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ร้อยละ 17.66 ของประเทศ หรือประมาณ 90.6 ล้านไร่ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของประเทศไทย คือ ร้อยละ 25 ของประเทศ (รูปที่ 3)

พื้นที่ป่าอนุรักษ์มีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการรักษาเสถียรภาพเชิงนิเวศวิทยาและการอนุรักษ์ความหลากหลายด้านชีววิทยา เป็นสถานที่พิเศษสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งความรู้ทางการศึกษา แต่การประกาศพื้นที่อนุรักษ์ โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติได้ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่เคยอาศัยในพื้นที่ เนื่องจากไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ทรัพยากรในอุทยานแห่งชาติได้ อย่างไรก็ดี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้พยายามเสริมสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและบริหารจัดการป่าไม้ เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ได้ในแนวทางการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน ลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการดูแลและบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติบางส่วน และให้ชุมชนสามารถอยู่อาศัยและทำกินได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งมีคุณค่าและความสำคัญต่อวิถีชีวิต ทั้งของมนุษย์ พืชและสัตว์ โดยเฉพาะเป็นถิ่นที่อยู่ของนกน้ำ ประกอบด้วย ป่าชายเลน ป่าพรุ หนอง บึง สนุ่น ทุ่งนา ทะเลสาบ และแม่น้ำ กระจายอยู่ทั่วประเทศรวมเนื้อที่ประมาณ 21.36 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 6.75 ของพื้นที่ประเทศ สำหรับพื้นที่ชุ่มน้ำที่ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ความสำคัญระหว่างประเทศของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกน้ำ หรืออนุสัญญาแรมซาร์ (Ramser Convention) มีจำนวน 10 แห่ง ได้แก่ 1) พรุควนขี้เสียน ในเขตห้ามล่าสัตว์ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง 2) พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จังหวัดหนองคาย 3) พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม 4) พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ 5) พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย จังหวัดเชียงราย 6) พื้นที่ชุ่มน้ำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (พรุโต๊ะแดง) จังหวัดนราธิวาส 7) พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง จังหวัดตรัง 8) พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ จังหวัดระนอง 9) พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ 10) พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จังหวัดพังงา


มูลค่าความเสียหาย
การสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ย่อมส่งผลต่อระบบนิเวศ และประโยชน์ที่จะได้รับจากทรัพยากรป่าไม้ทั้งที่เป็นประโยชน์ในปัจจุบันและอนาคต ดังนั้นในการประเมินการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้จะประเมินจากมูลค่าประโยชน์ของป่าที่คำนึงถึงประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตจากงานของ TDRI และ HIID (1995) โดยงานวิจัยนี้ทำการประเมินมูลค่ารวม (total economic value) ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทั้งที่เป็นมูลค่าจากการใช้ (Use value) ในส่วนของมูลค่าด้านนันทนาการ (recreational value) และมูลค่าจากการมิได้ใช้ (Non-use value) ในส่วนของมูลค่าของการดำรงอยู่ (existence value) มูลค่าเพื่อลูกหลานในอนาคต (bequest value) และมูลค่าเผื่อจะใช้ (option value) มูลค่ารวมของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่ประเมินได้จากงานวิจัยครั้งนี้เท่ากับ 3,080 ล้านบาทต่อปี (ราคาปี พ.ศ. 2537) หรือประมาณ 2,272 บาทต่อไร่ต่อปี และเมื่อปรับราคาเป็นราคาปี พ.ศ. 2547 จะมีมูลค่าประมาณ 3,167.88 บาทต่อไร่ต่อปี
ในการคำนวณมูลค่าการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้จะประเมินโดยพิจารณาจากเป้าหมายของประเทศที่ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ โดยประเมินจากส่วนต่างของพื้นที่ป่าไม้กับเป้าหมายโดยใช้มูลค่าป่าต่อไร่จากงานของ TDRI และ HIID (1995) โดยคิดเป็นมูลค่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 เพราะในปีดังกล่าวพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยมีประมาณร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ซึ่งเท่ากับเป้าหมายที่ภาครัฐได้ตั้งไว้ ทั้งนี้ข้อมูลพื้นที่ป่าจะใช้ข้อมูลจากสถิติการเกษตรรายปี ซึ่งรวบรวมโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ดังนั้นในการคำนวณหาต้นทุนจากการสูญเสียพื้นที่ป่าจึงคำนวณมูลค่ารายปี มีมูลค่าเฉลี่ยเท่ากับ 80,813 ล้านบาทต่อปี
การสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ย่อมหมายถึงการสูญเสียประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ทั้งที่เป็นประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ (Use value) และประโยชน์ที่ไม่ได้เกิดจากการใช้ (Non-use value) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพพื้นที่ป่าไม้ในแต่ละพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์แตกต่างกัน การใช้มูลค่าเดียวในการประเมินประโยชน์อาจไม่ถูกต้องนัก ดังนั้น จึงควรมีการศึกษามูลค่าทรัพยากรป่าตามประเภทของป่าในลักษณะต่างๆ เนื่องด้วยป่าแต่ละประเภทมีความหลากหลายทางชีวภาพแตกต่างกัน เพื่อให้การประเมินมีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น


ประโยชน์ของทรัพยากรป่าไม้
หย่อนใจได้ดี นอกจากนั้นป่าไม้ยังเป็นที่รวมของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์จำนวนมาก จึงเป็นแหล่งให้มนุษย์ ป่าไม้มีประโยชน์มากมายต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่.
ประโยชน์ทางตรง (Direct Benefits)
ได้แก่ ปัจจัย 4 ประการ
1. จากการนำไม้มาสร้างอาคารบ้านเรือนและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ไม้ขีดไฟ ฟืน เป็นต้น
2. ใช้เป็นอาหารจากส่วนต่าง ๆ ของพืชและผล
3. ใช้เส้นใย ที่ได้จากเปลือกไม้และเถาวัลย์มาถักทอ เป็นเครื่องนุ่งห่ม เชือกและอื่น ๆ
4. ใช้ทำยารักษาโรคต่าง ๆ
ประโยชน์ทางอ้อม (Indirect Benefits)
1. ป่าไม้เป็นเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารเพราะต้นไม้จำนวนมากในป่าจะทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาค่อย ๆ ซึมซับลงในดินกลายเป็นน้ำใต้ดินซึ่งจะไหลซึมมาหล่อเลี้ยงให้แม่น้ำ ลำธารมีน้ำไหลอยู่ตลอดปี
2. ป่าไม้ทำให้เกิดความชุ่มชื้นและควบคุมสภาวะอากาศ ไอน้ำซึ่งเกิดจากการหายใจของพืช ซึ่งเกิดขึ้นอยู่มากมายในป่าทำให้อากาศเหนือป่ามีความชื้นสูงเมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงไอน้ำเหล่านั้นก็จะกลั่นตัวกลายเป็นเมฆแล้วกลายเป็นฝนตกลงมา ทำให้บริเวณที่มีพื้นป่าไม้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ฝนตกต้องตามฤดูกาลและไม่เกิดความแห้งแล้ง
3. ป่าไม้เป็นแหล่งพักผ่อนและศึกษาความรู้ บริเวณป่าไม้จะมีภูมิประเทศที่สวยงามจากธรรมชาติรวมทั้งสัตว์ป่าจึงเป็นแหล่งพักผ่อนได้ศึกษาหาความรู้
4. ป่าไม้ช่วยบรรเทาความรุนแรงของลมพายุและป้องกันอุทกภัย โดยช่วยลดความเร็วของลมพายุที่พัดผ่านได้ตั้งแต่ ๑๑-๔๔ % ตามลักษณะของป่าไม้แต่ละชนิด จึงช่วยให้บ้านเมืองรอดพ้นจากวาตภัยได้ซึ่งเป็นการป้องกันและควบคุมน้ำตามแม่น้ำไม่ให้สูงขึ้นมารวดเร็วล้นฝั่งกลายเป็นอุทกภัย
5. ป่าไม้ช่วยป้องกันการกัดเซาะและพัดพาหน้าดิน จากน้ำฝนและลมพายุโดยลดแรงปะทะลงการหลุดเลือนของดินจึงเกิดขึ้นน้อย และยังเป็นการช่วยให้แม่น้ำลำธารต่าง ๆ ไม่ตื้นเขินอีกด้วย นอกจากนี้ป่าไม้จะเป็นเสมือนเครื่องกีดขวางตามธรรมชาติ จึงนับว่ามีประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์ด้วยเช่นกัน

สาเหตุสำคัญของวิกฤตการณ์ป่าไม้ในประเทศไทย
1.การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ตัวการของปัญหานี้คือนายทุนพ่อค้าไม้ เจ้าของโรงเลื่อย เจ้าของโรงงานแปรรูปไม้ ผู้รับสัมปทานทำไม้และชาวบ้านทั่วไป ซึ่งการตัดไม้เพื่อเอาประโยชน์จากเนื้อไม้ทั้งวิธีที่ถูกและผิดกฎหมาย ปริมาณป่าไม้ที่ถูกทำลายนี้นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอัตราเพิ่มของจำนวนประชากร ยิ่งมีประชากรเพิ่มขึ้นเท่าใด ความต้องการในการใช้ไม้ก็เพิ่มมากขึ้น เช่น ใช้ไม้ในการปลูกสร้างบ้านเรือนเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตรกรรมเครื่องเรือนและถ่านในการหุงต้ม เป็นต้น
2. การบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อเข้าครอบครองที่ดิน เมื่อประชากรเพิ่มสูงขึ้น ความต้องการใช้ที่ดินเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินก็อยู่สูงขึ้น เป็นผลผลักดันให้ราษฎรเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ แผ้วถางป่า หรือเผาป่าทำไร่เลื่อนลอย นอกจากนี้ยังมีนายทุนที่ดินที่จ้างวานให้ราษฎรเข้าไปทำลายป่าเพื่อจับจองที่ดินไว้ขายต่อไป
3. การส่งเสริมการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจเพื่อการส่งออก เช่น มันสำปะหลัง ปอ เป็นต้น โดยไม่ส่งเสริมการใช้ที่ดินอย่างเต็มประสิทธิภาพทั้ง ๆ ที่พื้นที่ป่าบางแห่งไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการเกษตร
4. การกำหนดแนวเขตพื้นที่ป่ากระทำไม่ชัดเจนหรือไม่กระทำเลยในหลาย ๆ พื้นที่ ทำให้ราษฎรเกิดความสับสนทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา ทำให้เกิดการพิพาทในเรื่องที่ดินทำกินและที่ดินป่าไม้อยู่ตลอดเวลาและมักเกิดการร้องเรียนต่อต้านในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน
5. การจัดสร้างสาธารณูปโภคของรัฐ เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ เส้นทางคมนาคม การสร้างเขื่อนขวางลำน้ำจะทำให้พื้นที่เก็บน้ำหน้าเขื่อนที่อุดมสมบูรณ์ถูกตัดโค่นมาใช้ประโยชน์ ส่วนต้นไม้ขนาดเล็กหรือที่ทำการย้ายออกมาไม่ทันจะถูกน้ำท่วมยืนต้นตาย เช่น การสร้างเขื่อนรัชชประภาเพื่อกั้นคลองพระแสงอันเป็นสาขาของแม่น้ำพุมดวง-ตาปี ทำให้น้ำท่วมบริเวณป่าดงดิบซึ่งมีพันธุ์ไม้หนาแน่นประกอบด้วยสัตว์นานาชนิดนับแสนไร่ ต่อมาจึงเกิดปัญหาน้ำเน่าไหลลงลำน้ำพุมดวง
6. ไฟไหม้ป่า มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งอากาศแห้งและร้อนจัด ทั้งโดยธรรมชาติและจากการกระทำของมะม่วงที่อาจลักลอบเผาป่าหรือเผลอ จุดไฟทิ้งไว้โดยเฉพาะในป่าไม้เป็นจำนวนมาก 7. การทำเหมืองแร่ แหล่งแร่ที่พบในบริเวณที่มีป่าไม้ปกคลุมอยู่ มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดหน้าดินก่อนจึงทำให้ป่าไม้ที่ขึ้นปกคลุมถูกทำลายลง เส้นทางขนย้ายแร่ในบางครั้งต้องทำลายป่าไม้ลงเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้าง ถนนหนทาง การระเบิดหน้าดินเพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ธาตุ ส่งผลถึงการทำลายป่า
7. การทำเหมืองแร่ แหล่งแร่ที่พบในบริเวณที่มีป่าไม้ปกคลุมอยู่ มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดหน้าดินก่อนจึงทำให้ป่าไม้ที่ขึ้นปกคลุมถูกทำลายลง เส้นทางขนย้ายแร่ในบางครั้งต้องทำลายป่าไม้ลงเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้าง ถนนหนทาง การระเบิดหน้าดินเพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ธาตุ ส่งผลถึงการทำลายป่า

การอนุรักษ์ป่าไม้
ป่าไม้ถูกทำลายไปจำนวนมาก จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศไปทั่วโลกรวมทั้งความสมดุลในแง่อื่นด้วย ดังนั้น การฟื้นฟูสภาพป่าไม้จึงต้องดำเนินการเร่งด่วน ทั้งภาครัฐภาคเอกชนและ ประชาชน ซึ่งมีแนวทางในการกำหนดแนวนโยบายด้านการจัดการป่าไม้ ดังนี้
1. นโยบายด้านการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้
2. นโยบายด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้เกี่ยวกับงานป้องกันรักษาป่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสันทนาการ
3. นโยบายด้านการจัดการที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ในท้องถิ่น
4. นโยบายด้านการพัฒนาป่าไม้ เช่น การทำไม้และการเก็บหาของป่า การปลูก และการบำรุงป่าไม้ การค้นคว้าวิจัย และด้านการอุตสาหกรรม
5. นโยบายการบริหารทั่วไปจากนโยบายดังกล่าวข้างต้นเป็นแนวทางในการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของชาติให้ได้รับผลประโยชน์ ทั้งทางด้านการอนุรักษ์และด้านเศรษฐกิจอย่างผสมผสาน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสมดุลของธรรมชาติและมีทรัพยากรป่าไม้ไว้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต